Sustainable Tourism Innovation 2024
กิจกรรมการแข่งขันนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ปี 2567

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ
เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.

ขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ จุดประกายไอเดียการท่องเที่ยว ในรูปแบบใหม่ๆ ในการแข่งขันนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่าสูงสุด 130,000 บาท

ประเภทรุ่นการแข่งขัน

รูปแบบของนวัตกรรมการประกวด

นวัตกรรมเชิงรูปธรรม

1
  • เป็นนวัตกรรมที่เป็นชิ้นงาน จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน
  • เป็นแนวคิดหรือผลงานที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
  • เป็นแนวคิดหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นได้จริง ใช้งานได้จริง มีการสร้างจากวัสดุหรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนำเสนอในการแข่งขัน
  • เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากนวัตกรรมเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน

นวัตกรรมเชิงความคิด

1
  • เป็นนวัตกรรมการคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้งานได้
  • เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
  • เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ตอบโจทย์การใช้งานในอนาคต
  • เป็นแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีความแตกต่างจากนวัตกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน

รางวัลของผู้ชนะการแข่งขัน (แบ่งเป็นประเภทรุ่นการแข่งขัน)

รางวัลที่ 1 เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตรและถ้วยรางวัล)

รางวัลที่ 2  เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตร)

รางวัลที่ 3  เงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตร)

รางวัลชมเชย  เงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท (พร้อมใบประกาศนียบัตร)

โจทย์การแข่งขัน
Theme Forward Voyage

(นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยว ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)

นวัตกรรมของการแข่งขัน จะต้องตอบโจทย์การท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ด้านใด ด้านหนึ่ง

1. ด้านเศรษฐกิจ (ด้วยโมเดล BCG Tourism)

BCG Tourism คือโมเดลวิถีใหม่ในการท่องเที่ยวที่เน้นความยั่งยืน โดยเอาความรู้และนวัตกรรมจากเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจชีวภาพมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากร ส่งเสริมกระบวนการที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถใช้ซ้ำได้ กระตุ้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และให้ความสำคัญในการลดการใช้พลังงานและขยะ เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักความสมดุลในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมระดับโลก ตามทิศทางของเศรษฐกิจแต่ละแขนงดังต่อไปนี้

1. แนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ
การนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของฟาร์มอัจฉริยะหรือ Smart Farming เป็นวิธีการที่ช่วยให้การดูแลผลผลิตแบบเกษตรอินทรีย์เป็นไปอย่างครบถ้วน จากการจัดการทุกกระบวนการผลิตอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และไร้สารเคมี และเพื่อส่งเสริมประสบการณ์การท่องเที่ยวอินทรีย์ที่เข้าถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง

2. แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
การนำผลิตผลและบริการที่มีในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการวางแผนและออกแบบการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ทุกอย่างถูกนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ลดการใช้วัสดุลง และทำให้การท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้มากขึ้นอย่างยั่งยืน

3. แนวทางเศรษฐกิจสีเขียว
การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มุ่งหวังให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการลดมลพิษและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนด้วยการนำเอาขยะไปแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่า

 

2. ด้านสังคมวัฒนธรรม (Creative Tourism)

การพัฒนาชุมชนท้องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ชุมชนได้ร่วมกันรักษาและเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ทั้งสิ่งที่เป็นเชิงรูปธรรมและนามธรรม กระบวนการนี้ช่วยให้ทรัพยากรท้องถิ่นถูกใช้งานอย่างคุ้มค่าและสามารถสร้างมูลค่าได้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับชุมชน โดยมีหลักการสำคัญ 6 ข้อที่เป็นแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
1. ความหลากหลายทางวัฒนธรรม
2. การจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในท้องถิ่น
3. การสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์วัฒนธรรม
4. การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์
5. การสร้างกระบวนการเรียนรู้
6. การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นด้วยวัฒนธรรม

3. ด้านสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)

คือการท่องเที่ยวที่ทั้งผู้มาเยือนและผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ (เจ้าของพื้นที่) ต่างใส่ใจและร่วมมือกันในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ร่วมกันลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรธรรมชาติจะคงอยู่ได้ในระยะยาว

  • นวัตกรรมการลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม
  • นวัตกรรมการนำสิ่งแวดล้อมมาสร้าง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นสำหรับคนในท้องถิ่น
  • นวัตกรรมสร้างการมีส่วนร่วมในเชิงบวกต่อการอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติ
  • การมอบประสบการณ์ที่สนุกสนานยิ่งขึ้นแก่นักท่องเที่ยวผ่านการเชื่อมโยงที่มีความหมายกับคนในท้องถิ่น และความเข้าใจในประเด็นสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมากขึ้น

เงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม

  • รับสมัครเป็นทีม โดยสมาชิกในทีมต้องมีจำนวน 1 – 4 คน
  • รุ่นนักเรียน/นักศึกษา ผู้สมัครต้องกำลังศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และอายุไม่เกิน 23 ปี
  • รุ่นประชาชนทั่วไป ผู้สมัครต้องมีอายุ 24 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าแล้ว
  • ในกรณีที่เป็นสถาบันการศึกษาส่งเข้าประกวด สามารถส่งทีมแข่งขันได้ไม่จำกัดทีม (เฉพาะจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)
  • ผู้เข้าแข่งขันสามารถส่งผลงานประดิษฐ์ได้ไม่จำกัดจำนวนผลงาน
  • หากผลงานเข้ารอบมากกว่า 1 ผลงาน ทางโครงการฯ จะขออนุญาตให้สิทธิ์ทีมแข่งขันคัดเลือกผลงานได้ 1 ผลงานเท่านั้น
  • ไม่สามารถเปลี่ยนตัวสมาชิกในกลุ่มได้ ยกเว้นในกรณีสุดวิสัย และต้องผ่านการพิจารณาและได้รับอนุมัติจากผู้จัดงานเท่านั้น

หมายเหตุ: ทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกเพื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบตัดสิน จะมีทีมงานติดต่อกลับเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติม ประกอบด้วย

  • เอกสารรับรองเป็นนักเรียน/นักศึกษาในสถาบันการศึกษาของท่าน (รุ่นนักเรียน/นักศึกษา)

  • เอกสารรับรองกรรมสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการ

ขั้นตอนการสมัคร

  1. ทีมแข่งขันจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันนี้ – 30 พฤษภาคม 2567
  2. ทีมแข่งขัน 1 ทีม จะต้องกรอกเอกสารและแนบเอกสารในลิงก์ที่โครงการฯ กำหนดให้ถูกต้อง และครบถ้วน โดยจะประกอบด้วยเนื้อหา 2 ส่วนคือ ข้อมูลทั่วไปของทีมแข่งขันประกอบด้วย

ชื่อหัวข้อผลงาน ข้อมูลสมาชิกทุกคนในทีม และข้อมูลอื่น ๆ ตามที่โครงการฯ กำหนด

  • ชื่อทีม
  • ชื่อสมาชิกทีม
  • ชื่อผลงาน
  • ชื่อสถาบันของท่าน (ถ้ามี)

เนื้อหานวัตกรรมสำหรับการส่งเพื่อแข่งขัน

  • คลิปวิดีโอการนำเสนอ (ไม่เกิน 5 นาที) นำเสนอแนวคิดหรือการทำงานของผลงาน
  • สภาพปัญหา/ที่มาและความสำคัญของปัญหา (Pain Points)
  • อธิบายแนวคิดและการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ (ในรูปแบบนวัตกรรมที่จับต้องได้) ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดในด้านต่าง ๆ
  • อธิบายแนวคิด (ในรูปแบบนวัตกรรมความคิด) ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดในด้านต่าง ๆ
  • อธิบายแนวคิดของสิ่งประดิษฐ์หรือแนวคิด ที่จะสามารถสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ได้อย่างไร
  • ภาพร่างผลงาน
  • เอกสารอ้างอิง (ถ้ามี)
Scroll to Top